รู้จักศาลทรัพย์สินทางปัญญา
ความเป็นมา
เนื่องจากคดีทรัพย์สินทางปัญญา และคดีการค้าระหว่างประเทศมีความยุ่งยากซับซ้อน และมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีทั่วไปจึงได้มี การจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขึ้น เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีโดยผู้พิพากษา ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศทั้งนี้เพื่ออำนวยความ ยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
กฎหมายจัดตั้งศาล
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจัดตั้งขึ้นโดยพระราช บัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศและ วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2540
เขตอำนาจศาล
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศและ วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง มีเขตอำนาจครอบคลุมท้องที่ 6 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดอื่นนอกจากนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค แต่ขณะนี้ยังไม่มีการจัดตั้งศาลดังกล่าวขึ้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงมีเขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
ประเภทของคดีที่ขึ้นสู่ศาล
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับ ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดังต่อไปนี้ คดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธ์ และคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดทางการค้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 - 275 คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ คดีแพ่งหรือคดีอาญาเกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทางการค้าและการคุ้มครองพันธุ์พืช คดีแพ่งเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ การให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันภัยเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ การทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าหรือการให้บริการจากต่างประเทศ คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทาง ปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทข้างต้น กรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหาดังกล่าวจะปรากฏในศาลใด ให้เสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาเป็นที่สุด
การดำเนินคดีในศาล
เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงกำหนดให้มีการพิจารณาคดีติดต่อกันโดยไม่เลื่อนคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็น นอกจากนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยอนุมัติประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา และการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลได้ ทำให้การดำเนินคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ สะดวก รวดเร็ว และประหยัดอันเป็นลักษณะพิเศษ ซึ่งแตกต่างจากศาลทั่วไป
กระบวนพิจารณาที่มีลักษณะพิเศษ
การติดต่อกับศาลอื่นอาจทำโดยโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่นแทนการติดต่อทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษหรือประกอบกัน อนุญาตให้ทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (Video Conference)ได้ คู่ความในคดีทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยื่นคำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนฟ้อง คดีได้ อนุญาตให้คู่ความเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นของพยานแทนการซักถามต่อหน้าศาล อนุญาตให้ไม่ต้องทำคำแปลเอกสารภาษาอังกฤษส่งต่อศาล หากเอกสารนั้นมิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี อนุญาตให้รับฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ กรณีมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐาน ไว้ก่อนก็ได้
ระบบไกล่เกลี่ย
ภายหลังจากคู่ความได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว คู่ความอาจตกลงกันเลือกระงับข้อพิพาทโดยวิธีการไกล่เกลี่ยก็ได้ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการที่สะดวกและไม่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างการดำเนินการใน ศาล ในการนี้ศาลได้อำนวยความสะดวกแก่คู่ความ ที่เลือกใช้วิธีการไกล่เกลี่ยโดยจัดให้มีห้องไกล่เกลี่ยซึ่งมีบรรยากาศผ่อน คลายสำหรับการเจรจาปรึกษาหารือ หากคู่ความเป้นชาวต่างประเทศ ก็ได้จัดให้มีการไกล่เกลี่ยเป็นภาษาอังกฤษด้วยและศาลได้ออกระเบียบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อ พิพาท เพื่อให้การดำเนินการมีความเหมาะสม เป็นธรรม สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพปัจจุบันถือได้ว่าการไกล่เกลี่ยในศาลประสบผลสำเร็จ อย่างดียิ่ง โดยคู่ความต่างพอใจในระบบการไกล่เกลี่ยทั้งผลของการไกล่เกลี่ย และความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันซี่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง ประเทศกลาง จะพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดการประนีประนอมยอมความต่อไปไม่หยุด ยั้ง
การอุทธรณ์
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาได้โดยตรงภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ในคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามกฎหมาย กำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่ จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือศาลรอการลงโทษหรือศาลรอการกำหนดโทษ หรือศาลลงโทษปรับเกินห้าพันบาท ในคดีแพ่งที่ราคาทรัพยืสินหรือจำนวนทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน สองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณา คดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรืออธิบดีอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ข้อมูลและภาพจาก : ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ http://www.ipitc.coj.go.th